RAM หรือ หน่วยความจำ



RAM คือหน่วยความจำหลักของคอมพิวเตอร์ (เป็นหน่วยความจำแบบชั่วคราว ซึ่งหมายถึงจะสามารถทำงานได้เมื่อมีกระแสไฟฟ้ามาหล่อเลี้ยง เมื่อมีการตัดกระแสไฟฟ้าหรือปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ข้อมูลใน RAM ก็จะหายไป) RAM เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม รวมถึงความเร็วในการทำงานของระบบคอมพิวเตอร์
RAM ทำหน้าที่อะไร

RAM ทำหน้าที่รับข้อมูลหรือชุดคำสั่งจากโปรแกรมสำเร็จรูปต่างๆที่กำลังเปิดใช้งานอยู่ในคอมพิวเตอร์ แล้วส่งต่อไปยัง CPU หรือ Central Processing Unit ซึ่งเป็นหัวใจหรือสมองของคอมพิวเตอร์นั้นๆให้ประมวลผล คำนวณ และวิเคราะห์ข้อมูลตามต้องการ เมื่อ CPU คำนวณเสร็จแล้ว จะส่งผลการคำนวณหรือวิเคราะห์นั้นๆกลับมายัง RAM เพื่อส่งต่อไปยังโปรแกรมเจ้าของชุดคำสั่ง ก่อนจะแสดงผลของการคำนวณออกมาทาง Output devices ต่างๆ เช่น ทางหน้าจอมอนิเตอร์หรือเครื่องพิมพ์ เป็นต้น





การทำงานของ RAM นั้น จะเป็นการทำงานหรือการเขียน/บันทึกข้อมูลแบบสุ่ม ซึ่งหมายถึง หน่วยประมวลผลกลางหรือ CPU สามารถเข้าถึงทุกส่วนของ RAM ได้ สามารถบันทึกข้อมูลลงตรงจุดไหนก็ได้ วัตถุประสงค์ก็เพื่อเพิ่มความเร็วในการบันทึกและอ่านข้อมูลนั่นเอง ตรงนี้เองที่เป็นที่มาของคำว่า Random access

RAM สามารถแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1. Input Storage Area
เนื้อที่ RAM ส่วนนี้จะเป็นส่วนที่รับข้อมูลจาก Input devices เช่น คีย์บอร์ด เมาส์ Barcode reader และอื่นๆ โดยจะเก็บไว้เพื่อส่งให้ CPU ทำการประมวผล คำนวณหรือวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นต่อไป

2. Working Storage Area 
เนื้อที่ RAM ส่วนนี้เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลที่อยู่ในระหว่างการประมวลผลของ CPU

3. Output Storage Area
เนื้อที่ RAM ส่วนนี้เป็นพื้นที่สำหรับจัดเก็บข้อมูลที่ผ่านการประมวลผล คำนวณ และวิเคราะห์โดยหน่วยประมวลผลกลางหรือ CPU แล้วและอยู่ระหว่างรอส่งผลการประมวลดังกล่าวกลับคืนไปให้โปรแกรมเจ้าของชุดคำสั่ง เพื่อแสดงผลทาง Output devices ตามที่ผู้ใช้งานกำหนดไว้

4. Program Storage Area
เป็นส่วนที่ใช้เก็บชุดคำสั่งหรือโปรแกรมที่ผู้ใช้ต้องการจะส่งเข้ามา เพื่อใช้คอมพิวเตอร์ปฏิบัติตามคำสั่งชุดดังกล่าว หน่วยควบคุมจะทำหน้าที่ดึงคำสั่งจากส่วนนี้ทีละคำสั่งเพื่อทำการแปลความหมาย ว่าคำสั่งนั้นสั่งให้ทำอะไร จากนั้นหน่วยควบคุมจะไปควบคุมฮาร์ดแวร์ที่ต้องการทำงานดังกล่าวให้ทำงานตามคำสั่งนั้นๆ หน่วยความจำจะจัดอยู่ในลักษณะแถวแนวตั้ง (CAS:Column Address Strobe) และแถวแนวนอน (RAS:Row Address Strobe) เป็นโครงสร้างแบบเมทริกซ์ (Matrix) โดยจะมีวงจรควบคุมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวงจรในชิปเซต (Chipset) ควบคุมอยู่ โดยวงจรเหล่านี้จะส่งสัญญาณกำหนดแถวแนวตั้ง และสัญญาณแถวแนวนอนไปยังหน่วยความจำเพื่อกำหนดตำแหน่งของข้อมูลในหน่วยความจำที่จะใช้งาน

เมื่อพิจารณาจากหน้าที่ของ RAM ในระบบการทำงานของคอมพิวเตอร์ก็จะเห็นว่า RAM เป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญยิ่ง และเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า ยิ่งคอมพิวเตอร์เครื่องใดมี RAM มาก ก็จะมีประสิทธิภาพการทำงานสูงขึ้นด้วย แต่การจะเพิ่ม RAM ให้กับระบบคอมพิวเตอร์นั้นเราต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย เช่น งบประมาณ ความต้องการแรมของโปรแกรมที่เราใช้งาน และจำนวนช่อง (Slot) ในแผลวงจรหลักที่สามารถรองรับ RAM ได้เพิ่มอีกหรือไม่ เป็นต้น

RAM มีกี่ชนิด อะไรบ้าง
แรมมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งาน เช่น
- SRAM (Static RAM)
- NV-RAM (Non-volatile RAM)
- DRAM (Dynamic RAM)
- Dual-ported RAM
- Video RAM
- WRAM
- FeRAM
- MRAM

RAM ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภทคือ
- SDRAM (Synchronous Dynamic Random Access Memory)
- DDR RAM หรือ DDR-SDRAM (Double Data Rate SDRAM)

โดยที่ DDR SDRAM นั้นได้รับความนิยมมากกว่าในปัจจุบันเนื่องจากมีความเร็วในการรับ-ส่งข้อมูลมากกว่าแบบ SDRAM ธรรมดา ส่วนราคานั้นก็ไม่แตกต่างกันมาก

Module หรือ รูปแบบของ RAM ที่นิยมใช้มีดังนี้
- Single in-line Pin Package (SIPP)
- Dual in-line Package (DIP)
- Single in-line memory module (SIMM)
- Dual in-line memory module (DIMM)
- Small outline DIMM (SO-DIMM) เป็น DIMM ที่มีขนาดเล็ก ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์แล็บท็อป

- Small outline RIMM (SO-RIMM)